องค์การบริหารส่วนตำบลคำสะอาด อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร: www.kamsaad.go.th

 
 
อำนาจหน้าที่

ภารกิจอำนาจหน้าที่ของ "องค์การบริหารส่วนตำบลคำสะอาด" ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และรวบรวมกฎหมายอื่นขององค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าองค์การบริหารส่วนตำบลคำสะอาด  มีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในเขตพื้นที่ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน

องค์การบริหารส่วนตำบล
  1. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล : มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น
  2. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม : การจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง

  3. ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบต. ตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต. (มาตรา 60)
  4. นายก อบต. รองนายก อบต. หรือผู้ซึ่งนายก อบต. มอบหมายมีสิทธิเข้าประชุมสภา อบต. และมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงตลอดจนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของตนต่อที่ประชุมแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน (มาตรา 58/6)
  5. กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภา อบต. หรือสภา อบต. ถูกยุบตามมาตรา 53 หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของราชการหรือราษฎร นายก อบต. จะดำเนินการไปพลางก่อนเท่าที่จำเป็นก็ได้ แต่เมื่อได้เลือกประธานสภา อบต. แล้วให้เรียกประชุมสภา อบต. เพื่อให้นายก อบต. แถลงนโยบายโดยไม่มีการลงมติภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเลือกตั้งประธานสภา อบต. (มาตรา 58/5 วรรคสอง)
  6. กรณีนายก อบต. ปฏิบัติการที่อาจเสียหายแก่ อบต. หรือราชการ และนายอำเภอได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนที่จะรอช้าไม่ได้ นายอำเภอมีอำนาจออกคำสั่งระงับการปฏิบัติราชการของนายก อบต. ไว้ตามที่เห็นสมควรได้ แล้วรีบรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 15 วัน เพื่อวินิจฉัยตามที่เห็นสมควรโดยเร็ว : การกระทำของนายก อบต. ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันกับ อบต. (มาตรา 90)
  7. เป็นผู้เสนอร่างข้อบัญญัติ อบต. (มาตรา 71) ร่างข้อบัญญัติประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (มาตรา 87)
  8. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ อบต. (มาตรา 65)

พนักงานส่วนตำบล
  1. พนักงานส่วนตำบล หมายถึง ข้าราชการซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการของ อบต. โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของ อบต. หรือจากงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่ อบต. และ อบต. นำมาจัดเป็นเงินเดือนของพนักงานส่วนตำบล
  2. ปลัด อบต. เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างของ อบต. รองนายก อบต. และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของ อบต. ให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่นายก อบต. มอบหมาย
  3. การบริหารงานบุคคลของ อบต. ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
 4. อบต. จะวิเคราะห์บทบาทภารกิจอำนาจหน้าที่ และรายได้ของตนเองเพื่อกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ และอัตรากำลังตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยปกติทุก อบต. จะมีตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
            (1) ปลัด อบต.
            (2) รองปลัด อบต.
            (3) ผู้อำนวยการกองคลัง
            (4) ผู้อำนวยการกองช่าง
            (5) ผู้อำนวยการกองการศึกษา

ประชาชนในเขต อบต.
  1. ได้รับการแก้ไขปัญหาพัฒนาความเป็นอยู่และการบริการสาธารณะจาก อบต. ตามอำนาจหน้าที่ของ อบต.
   2. มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต.
   3. มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอให้ออกข้อบัญญัติ อบต.
   4. มีสิทธิเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการซื้อการจ้าง โดยวิธีสอบราคา ประกวดราคา และวิธีพิเศษของ อบต. อย่างน้อยคณะละ 2 คน
   5. มีสิทธิเข้าฟังการประชุมสภา อบต.
   6. มีสิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภา อบต. หรือผู้บริหาร อบต. ตามกฎหมายกำหนด หากเห็นว่าผู้นั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป
   7. มีหน้าที่ไปเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. โดยตรง
  8. มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบัญญัติของ อบต.
   9. มีหน้าที่เสียภาษีให้แก่ อบต. อย่างถูกต้อง
  10.สนับสนุนการดำเนินงานของ อบต. และร่วมกิจกรรมกับ อบต.
  11. ติดตามข่าวสาร ตรวจสอบและแนะนำการทำงานของ อบต.
  12. มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนา อบต. การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ และการประเมินผล

การปฏิบัติงานของ อบต.ตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

   1. องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66) 
   2. องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) มีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ (มาตรา 67)
           (1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
           (2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
           (3) ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
           (4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
           (5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
           (6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
           (7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
           (8) บำรุงรักษาศิลป จารีตประเพณี ภูมิปัญญท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
           (9) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย โดยจัดสรรงบประมาณหรือบุคลากรให้ตามความจำเป็น และสมควร (ความเดิมในมาตรา 68 (8) ถูกยกเลิกและใช้ข้อความใหม่แทนแล้ว โดยมาตรา 14 และเพิ่มเติม (9) โดยมาตรา 15 ของ พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2542 ตามลำดับ)
  
   3. องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาจทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ (มาตรา 68)

           (1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
           (2) ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
           (3) ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
           (4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะ
           (5) ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์
           (6) ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
           (7) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
           (8) การคุ้มครองดูและและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 
           (9) หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบล
           (10) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
           (11) กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
           (12) การท่องเที่ยว
           (13) การผังเมือง
(ความเดิมในมาตรา 68 (12) และ (13) เพิ่มเติมโดยมาตรา 16 ของ พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2542 )